บทความ
การทดลองทางวิทยาศาสตร์ช่วยสร้างลักษณะนิสัยการเรียนรู้อย่างมีกระบวนการ
ส่งเสริมให้เด็กคิดอย่างมีระบบ และศึกษาสิ่งต่างๆด้วยการนำเอาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้เป็นสิ่งกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้
และส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็กรวมถึงสามารถพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านต่างๆ ดังนี้
ส่งเสริมให้เด็กได้พัฒนาความสามารถในการค้นคว้า
สืบสอบสิ่งต่างๆ
ส่งเสริมให้เด็กได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างแท้จริง
เช่น ทักษะการสังเกต ทักษะการจำแนกประเภท ทักษะการสื่อสาร ทักษะการลงความเห็น
ทักษะการวัด ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น
ช่วยตอบสนองต่อธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย
โดยเฉพาะความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก เจตคติต่อวิทยา ศาสตร์
และการเรียนรู้ด้วยการค้นพบ
ช่วยให้เด็กเข้าใจวิธีการทำงานอย่างนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับชีวิตประจำวัน
และการสืบค้นของตัวเด็ก
ส่งเสริมให้เด็กมีความกระตือรือร้น
อยากรู้อยากเห็นตลอดจนการใช้คำถาม “อะไร” “ทำไม” และ “อย่างไร”
ส่งเสริมให้เด็กพัฒนาความคิดอย่างมีเหตุผล
อย่างมีระบบตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์
ส่งเสริมให้เด็กมีความรู้เกี่ยวกับตนเอง
และสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น
ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะในการแก้ปัญหา
ส่งเสริมให้เด็กมีความรับผิดชอบในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์
เป็นการเตรียมความพร้อมในการเรียนวิทยาศาสตร์ในระดับประถมศึกษา
ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนกล้าพูด
กล้าทำ กล้าแสดงความคิดเห็น
ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคง
ไม่เชื่อต่อคำบอกเล่าของคนอื่นง่ายๆ จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นจริง
ส่งเสริมให้เด็กเป็นคนมีจิตใจกว้างขวาง
ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น
ส่งเสริมให้เด็กสามารถทำงานเป็นกลุ่มได้
รู้จักการเป็นผู้นำ ผู้ตาม รู้จักรอคอย แบ่งปันสิ่งของเครื่องใช้
ตลอดจนการช่วยเหลือทำงานร่วมกัน
ส่งเสริมให้เด็กลดความกลัวต่อสิ่งต่างๆ
เช่น กลัวความมืด กลัวเสียงฟ้าร้อง เป็นต้น
ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะในการใช้อวัยวะต่างๆของร่างกายในการทำงาน
อีกทั้งทักษะในการใช้เครื่องมือในการทำงานต่างๆอีกด้วย
ครูจัดกิจกรรมให้ลูกทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนอย่างไร?
การจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กปฐมวัย
สามารถบูรณาการกิจกรรมทดลองไว้ในกิจกรรมตามตารางกิจกรรมประจำวันสำหรับเด็กปฐมวัย
เช่น เสริมประสบการณ์หรือกิจกรรมในวงกลม กิจกรรมสร้างสรรค์ เนื้อหาที่นำมาทด
ลองจะยึดหน่วยหรือหัวเรื่องที่เด็กเรียนรู้เป็นหลัก เช่น
การเรียนรู้ หน่วยน้ำ ครูจัดกิจกรรมการทดลองวิธีการกรองน้ำให้สะอาด
เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้มโนทัศน์เกี่ยวกับเรื่องวิธีการทำให้น้ำสะอาด
จากการทดลองวิธีการกรองน้ำ
ครูอาจจัดวัสดุอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้เด็กได้เลือกและค้นหาวิธีการที่เหมาะสมในการกรองน้ำ
ส่วนการเรียนรู้ หน่วยผลไม้ อาจจัดกิจกรรมทดลองเพื่อพิสูจน์เกี่ยวกับส่วนประกอบของผลไม้ว่า
ผลไม้แต่ละชนิดมีส่วน ประกอบเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร
โดยครูแบ่งกลุ่มเพื่อให้เด็กทดลองเป็นกลุ่ม
และมีการเปรียบเทียบผลการพิสูจน์ของแต่ละกลุ่มได้ เช่น เงาะจะมีส่วนประกอบคือ
เปลือก เนื้อ และมีเมล็ดเดียว สับปะรดประกอบด้วยเปลือก และเนื้อ ไม่มีเมล็ดแต่มีแกนอยู่ส่วนตรงกลาง
แตงโมประกอบด้วยเปลือก เนื้อสีแดง และมีเมล็ดหลายเมล็ด
สำหรับการบูรณาการการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในกิจกรรมสร้างสรรค์สามารถจัดให้กับเด็กได้
เช่น การเรียนรู้ หน่วยดอก ไม้ สามารถจัดกิจกรรมการทดลองสีจากดอกไม้ในการสร้างสรรค์งานทางศิลปะได้
เช่น ใช้สีแดงจากดอกกุหลาบ สีเหลืองจากดอกดาวเรือง สีน้ำเงินจากดอกอัญชัน เป็นต้น
นอกจากครูจะบูรณาการกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไว้ในกิจ กรรมประจำวันแล้ว
ยังสามารถจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ไว้เป็นการเฉพาะและนำไปจัดเพื่อเป็นกิจกรรมเสริมในช่วงเวลาอื่นๆได้
เช่น จัดไว้ในมุมวิทยาศาสตร์ จัดในช่วงตอนพักกลางวันหรือช่วงก่อนเด็กกลับบ้าน ฯลฯ
พ่อแม่
ผู้ปกครองจะจัดกิจกรรมให้ลูกทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างไร?
พ่อแม่หรือผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็ก
เพราะการเรียนรู้ครั้งแรกของเด็กเกิดที่บ้าน จากการที่เด็กมีความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัว
โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ที่เป็นบิดามารดา ความสัมพันธ์และพฤติ
กรรมดังกล่าวจะมีผลต่อพัฒนาการของเด็ก จากผลงานการวิจัยของชุลีพร พิศุทธิ์ศุภฤทธิ์
ที่ศึกษาพบว่า เด็กปฐมวัยมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านการสังเกตสูงขึ้นหลังจากที่บิดามารดา
ชวนคุย ชวนร้อง ชวนเล่น สอดคล้องกับงานวิจัยของเสาวคนธ์ สาเอี่ยม ที่ศึกษาพบว่า
เด็กปฐมวัยมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ด้านการจำแนกสูงขึ้นหลังจากที่พ่อแม่จัดกิจกรรมการเล่นสร้างสรรค์ให้กับลูก
ดังนั้น บทบาทของบิดามารดามีความสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยในด้านต่าง ๆ
รวมทั้งทักษะพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์
สำหรับแนวทางของผู้ปกครองในการที่จะส่งเสริมทักษะพื้นฐานทางวิทยา
ศาสตร์ให้กับลูกที่บ้านควรมีขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 พ่อแม่ควรสังเกตความสนใจของลูกว่า
ลูกมีความสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวในเรื่องใดบ้าง ซึ่งสามารถพบได้จากการคำพูด
การสนทนาในชีวิตประจำวันของลูกกับพ่อแม่
ขั้นที่ 2 สร้างเสริมประสบการณ์ในเรื่องที่ลูกสนใจ
โดยบูรณาการทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ในเรื่องนั้นๆ เช่น
ถ้าเด็กสนใจเรื่องการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกไว้ที่บ้าน
เด็กอาจจะถามว่าทำไมต้นไม้ที่ปลูกในกระถางกับต้นไม้ที่ปลูกลงดินมีการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน
พ่อแม่ควรใช้การสนทนาและใช้คำถามกระตุ้นให้เด็กคิดว่ามีสาเหตุมาจากอะไร
เด็กอาจจะสืบค้นโดยการถามบุคคลต่างๆ หรืออาจจะไปสังเกตลักษณะของดินในกระถางและดินที่ใช้ปลูกต้นไม้ตามธรรมชาติว่ามีความเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร
นอกจากนี้พ่อแม่อาจจะช่วยกระตุ้นให้เด็กคิดว่าการเจริญเติบโตของต้นไม้ต่าง ๆ
อาจมาจากการดูและรักษาและบำรุง เช่น การรดน้ำต้นไม้ การให้ปุ๋ย ซึ่งในขั้นนี้พ่อแม่ควรจัดประสบการณ์หรือสิ่งแวด
ล้อมให้เด็กได้รับประสบการณ์ที่กว้างขวางขึ้น
ขั้นที่ 3 พ่อแม่ควรสรุปความรู้หรือความคิดรวบยอดหลังจากที่เด็กได้ทดลองหรือสืบค้นข้อมูลเพียงพอแล้ว
เช่น การอธิบายให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับการเจริญเติบโตของพืชจากองค์ประกอบของการดูแลที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ การอธิบายหลักการต่างๆควรใช้ภาษาที่เหมาะสมกับวัยของเด็กด้วย
การจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กเรียนรู้ที่บ้านนั้น
พ่อแม่ควรนำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตประจำวันมาสอนเด็ก เช่น
การสอนการทดลองเรื่องการระเหยของน้ำและการเกิดฝนจากการปรุงอาหาร
การทดลองเกี่ยวกับพลังงานความร้อนจากการรีดผ้า
การตากผ้า
การทดลองเรื่องรุ้งกินน้ำจากการซักผ้า
การทดลองการจม
การลอยจากการถนอมอาหารด้วยการทำไข่เค็ม
การทดลองเรื่องอากาศต้องการที่อยู่จากการเป่าลูกโป่ง
เพื่อใช้ตกแต่งสถานที่ในงานวันเกิดหรือวันปีใหม่ ฯลฯ
ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า
การจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่พ่อแม่จัดให้กับลูกที่บ้านควรเป็นกิจกรรมบูรณาการด้วยการใช้สถานการณ์จริงในชีวิตประจำวัน
เพื่อใช้ในการเรียนรู้ให้กับเด็กได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรรู้จักสังเกตพฤติกรรมของเด็ก
เพื่อจะได้ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของเด็กปฐมวัยได้
เกร็ดความรู้เพื่อครู
ครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสริมประสบการณ์ให้กับเด็กโดยเฉพาะการจัดกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้รับการพัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
บทบาทสำคัญของครูปฐมวัยคือ การจัดกิจกรรมทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เด็กอย่างน้อย 1 การทดลอง ต่อ 1 หน่วยการเรียนรู้
และจัดหาสื่อวัสดุอุปกรณ์ที่นำมาใช้เพื่อการทดลองให้พร้อม
อีกทั้งยังต้องจัดมุมประสบการณ์ที่ส่งเสริมให้เด็กคิดและทดลองตามหัวเรื่องที่เรียน
นอกจากนี้
การใช้คำถามของครูเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กได้พัฒนาทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ได้เช่นเดียวกัน